เว็บไซต์จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างการให้บริการในธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่มีการดำเนินการจริงแต่อย่างใด ข้อความ และรูปภาพต่างๆ นำมาจากใน internet และได้อ้างอิงถึงเนื้อหาไว้เรียบร้อยแล้ว และขอบคุณสำหรับรูปภาพ และเนื้อหาบทความต่างๆ
ขั้นตอนนำเข้าและส่งออก เมื่อเริ่มต้นซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้าอะไร ผ่านเส้นทางไหน ก็จะต้องผ่านทั้ง 8 ขั้นตอนเหล่านี้มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงปลายทางมีอะไรบ้าง
เมื่อตกลงการสั่งซื้อหรือขายสินค้าแล้ว ทางฝ่ายผู้ขายก็จะต้องเริ่มจากผลิตสินค้าให้หรือเตรียมสินค้าในโกดังให้พร้อมจัดส่ง ขั้นตอนการส่งออกสินค้าก็จะมีดังนี้

1. เริ่มนำเข้าส่งออกที่โรงงานผู้ขาย
จุดแรกของการนำเข้าส่งออกการขนส่งย่อมไม่พ้นผู้ขายหรือผู้ผลิตไปได้ ซึ่งในจุดนี้ส่วนใหญ่เรามักจะเรียกมันว่า “หน้าโรงงาน” ในภาษาไทย หรือ “Shipper” ในภาษาอังกฤษครับ ทั้งนี้ที่เรียกว่าโรงงานก็เพื่อความสะดวกในการเรียก ถึงแม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ หรือโกดังเก็บสินค้าก็ตาม ส่วน Shipper นั้นจะใช้เวลาคุยกับชาวต่างชาติเพราะแปลตรงตัวว่าผู้ส่งออกหรือผู้ขาย ก็อนุมานกันได้เลยว่าที่จะไปรับสินค้านั่นแหละ หรือใครจะใช้คำอย่างอื่น เช่น โรงงาน Factory, โกดัง Warehouse หรือ ร้าน Shop ตามความเข้าใจ แต่ขอให้เข้าใจตรงกันว่าสินค้าจะเริ่มต้นออกเดินทางจากที่ที่นั่น

2. การขนส่งในประเทศต้นทาง
เมื่อตกลงซื้อขายกันเสร็จสิ้นแล้วสินค้าจะถูกบรรจุและแพ็คกิ้งขึ้นรถบรรทุกเพื่อขนส่งไปยังท่าเรือ/ท่าอากาศยานต่างๆ แล้วจึงถ่ายโอนสินค้าต่อไปยังทางเรือหรือทางเครื่องบินเพื่อจัดส่งออกไปยังประเทศปลายทาง เรียกว่า Trucking, Pick-up, Inland หรือ Inland freight

3. การทำพิธีการศุลกากรขาออก
ในขั้นตอนนี้ผู้ขาย(Shipper) หรือตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ(Freight Forwarder) ที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้จะมีหน้าที่ในการสำแดงสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร(Customs House) ว่าสินค้าอะไรจะออกจากประเทศนั้น จุดนี้ภาษาเฟรทเรียกว่า Outbound Customs Clearance และปกติแล้วขั้นตอนนี้จะกินเวลาไม่นาน หากไม่เจอปัญหาอะไร

4. ท่าเรือ/ท่าอากาศยานต้นทาง
เมื่อศุลกากรได้ตรวจปล่อยสินค้าแล้ว สินค้าก็จะได้รับอนุญาตให้เอาขึ้นเรือหรือเครื่องบินที่จัดเตรียมไว้เพื่อขนส่งออกจากประเทศผู้ขาย ในจุดนี้ภาษาเฟรทเราจะเรียกว่า Port of Loading(POL) แต่ไม่ใช่ว่าทำพิธีการเสร็จแล้วเรือหรือเครื่องบินจะออกทันที ยังต้องมีการผ่านกระบวนการในท่าฯอีกพอสมควร ขึ้นอยู่กับกฏข้อบังคับต่างๆของท่าเรือท่าอากาศยานของแต่ละประเทศด้วย

5. ท่าเรือ/ท่าอากาศยานปลายทาง
เมื่อสินค้าได้เดินทางมาถึงยังประเทศของผู้ซื้อแล้ว จุดนี้เมื่อเรือหรือเครื่องบินจอดเทียบท่าแล้ว สินค้าจะถูกลำเลียงเข้าโกดังไว้ รอให้ผู้ซื้อหรือตัวแทนออกของและศุลกากรมาตรวจปล่อยสินค้าต่อไปครับ ในจุดนี้ภาษาเฟรทเราจะเรียกว่า Port of Discharge(POD)

6. พิธีการศุลกากรสินค้าขาเข้า
เจ้าพนักงานศุลกากรจะมาตรวจสินค้าที่ผู้ซื้อนำเข้ามาว่าสินค้าที่คุณนำเข้ามาตรงกับที่ได้แจ้งกับกรมศุลกากรไว้หรือไม่ เสียภาษีตรงกับฐานภาษีที่กรมศุลกากรกำหนดหรือไม่ เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรเมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็ขนออกจากท่าเรือ/ท่าอากาศยานได้เลย จุดนี้คือ Inbound Customs Clearance

7. ขนส่งจากท่าเรือ
สินค้าที่ตรวจปล่อยแล้วก็ขนไปยังผู้รับ การขนส่งทางรถในประเทศไทยนั้นมีข้อกำหนดสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่กว่ากระบะด้วย โดยจำง่าย ๆ ว่าในช่วงจราจรคับคั่งตอนพนักงานเข้างานและเลิกงานคือช่วงที่รถใหญ่ห้ามวิ่งในเขตเมือง
รถบรรทุกสามารถวิ่งเวลาไหนได้บ้าง? : http://www.lissom-logistics.co.th/articles-details.php?id=35

8. ผู้ซื้อ
ตอนนี้ขั้นตอนสุดท้ายคือ ผู้ซื้อ(Consignee) ทำการรับสินค้า ถือเป็นอันเสร็จสิ้นภาระกิจขนส่งสินค้า ในขั้นตอนนี้ก่อนที่จะรับมอบสินค้า ผู้ซื้อที่ดีควรจะตรวจดูความเรียบร้อยของสินค้าก่อนทำการรับมอบทุกครั้ง
ผ่านไปแล้วทั้ง 8 จุดที่คุณควรจะเข้าใจก่อนทำการนำเข้าหรือส่งออก ในการขนส่งแต่ละประเทศก็จะมีเวลาในการขนส่งไม่เท่ากันแต่ขั้นตอนก็จะอยู่ใน 8 ข้อนี้อย่างแน่นอน

แหล่งที่มา : https://bit.ly/2INl5hb